• "เกมส์" ศัตรูร้ายทำลายเยาวชน จริงหรือ?!!!
  • วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2548 เวลา 01:05:50 น. | ผู้เขียน : Lunar | เปิดดู 1,776 ครั้ง
    • "เกมส์" ศัตรูร้ายทำลายเยาวชน จริงหรือ?!!!
    • ช่วงนี้ดูเหมือนว่าเกมส์จะถูกมองเป็นสิ่งมอมเมาเยาวชนของชาติไปซะแล้ว ความจริงเกมส์ไม่ว่าจะเป็น web games, pc games, game boy, game cube, playstation, X-box ฯลฯ ก็มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้อย่างไร เช่นเดียวกับสิ่งอื่น ๆ อย่างยารักษาโรคที่หากเรารับมากเกินไป หรือใช้ไม่ถูกโรคถูกคนก็จะเป็นผลร้าย เหมือนกับเกมส์ที่ใช้เล่นเพื่อความบันเทิง คลายเครียด แต่หากเล่นมากจนเกินไปก็จะเป็นโทษ หรือเล่นเกมส์ที่ไม่เหมาะกับผู้เล่นก็จะเกิดโทษได้เช่นกัน

      โทษของเกมส์คงไม่ต้องพูดถึงเพราะทุกวันนี้สื่อหลายสายต่างตีแผ่โทษของเกมส์กันมากจนเกือบลืมกันไปแล้วว่าเกมส์ดี ๆ ก็มีเหมือนกัน อย่างเกมส์ที่เสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก หรือเกมส์เสริมทักษะต่าง ๆ ที่ให้ทั้งความบันเทิง และเพิ่มทักษะ ถึงตรงนี้วัยโจ๋อาจจะเบะปากแล้ว คิดว่า เกมส์อย่างนั้นจะไปมันส์อะไร แต่อ๊ะ ๆ อย่าดูถูกเชียว คงไม่ลืมเกมส์น่ารัก ๆ อมตะอย่างมาริโอแห่งค่ายนินเทนโด ซึ่งถึงทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่ในกระแสนิยม จากมาริโอเดินเก็บไอเท็ม กระโดดเหยียบเต่า บุกปราสาท ช่วยเจ้าหญิง ก็ขยายเป็น มาริโอซันไชน์ มาริโอคาร์ท มาริโอปาร์ตี้ มาริโอเทนนิส มาริโอกอล์ฟ มาริโอทั้งหลายแหล่ เดินขบวนกันออกมาเรื่อย ๆ ล่าสุดก็มี E3 2005 New Super Mario Bros. ออกมายั่วให้ต้องเตรียมทุบกระปุกซื้อมาเล่นกัน
    • Game House และ Pop Cap ก็เป็นค่ายที่ทำเกมส์ยอดนิยมออกมาให้คนติดได้ไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นเกมส์ arcade เกมส์ puzzle หรือเกมส์ฝึกสมอง ฝึกทักษะต่าง ๆ ที่ก็ให้ความสนุกติดได้ไม่แพ้เกมส์จากค่ายอื่น ๆ

      อย่างไรก็ตามในเหล่าเกมส์ทั้งหลายก็มีเกมส์แนวเถื่อน ๆ โหด ๆ อยู่ไม่น้อย เช่น DOOM3, DIABLO, Half-life, Mortal Kombat, George A. Romero's Land of the Dead, Perfect Dark Zero ฯลฯ ยังไม่รวมเกมส์สำหรับผู้ใหญ่ที่มีเนื้อหา หรือภาพล่อแหลมทางเพศ ซึ่งเกมส์ผู้ใหญ่นี้เราคงไม่ค่อยเห็นตามร้านเกมส์ทั่วไปในเมืองไทยเท่าไรนัก ยกเว้นเป็นเกมส์เถื่อนแอบขายกันเอง

      ในสหรัฐอเมริกา สมาคมซอร์ฟแวร์เพื่อความบันเทิง (ESA) ได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดระดับซอร์ฟแวร์เพื่อความบันเทิง (ESRB: Entertainment Software Rating Board) ขึ้นในปี 1994 โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาของวีดีโอ และคอมพิวเตอร์เกมส์ เพื่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ESRBเรตติ้ง มี 2 ส่วนคือ สัญลักษณ์เรตติ้ง ซึ่งจะบอกอายุผู้เล่นที่เหมาะกับเกมส์ และคำอธิบายเนื้อหา ซึ่งจะบอกถึงส่วนประกอบในเกมส์ โดยอาจบอกถึงสิ่งที่น่าสนใจหรือ สิ่งที่ควรระวัง
    • ภาพประกอบจาก www.esrb.org
    • สัญลักษณ์ RP มักเห็นแค่ในโฆษณาเกมส์ก่อนที่เกมส์จะออกวางตลาด เมื่อจัดเรตแล้วก็จะนำสัญลักษณ์มาแสดงบนกล่องให้ผู้ปกครองได้เลือกอย่างถูกต้อง สำหรับคำอธิบายเนื้อหามักแสดงดังนี้

      Alcohol Reference อ้างถึง หรือมีภาพแสดงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
      Animated Blood แสดงให้เห็นเลือดที่ไม่ใช่สีจริง หรือไม่เหมือนจริง
      Blood แสดงให้เห็นเลือดเหมือนจริง
      Blood and Gore แสดงให้เห็นเลือดเหมือนจริง หรือการทำร้ายส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
      Cartoon Violence มีการแสดงความรุนแรงของตัวการ์ตูนบ้าง บางครั้งก็รวมถึงความรุนแรงที่ตัวการ์ตูนไม่บาดเจ็บอะไรหลังจากโดนทำร้าย
      Comic Mischief แสดงให้เห็น หรือมีบทสนทนาถึงความรุนแรงที่ทำให้ขำขัน หรือเรื่องตลกที่ผู้ปกครองควรชี้แนะ
      Crude Humor แสดงให้เห็น หรือมีบทสนทนาถึงความหยาบคาย รวมทั้งเรื่องตลกเกียวกับห้องน้ำ
      Drug Reference อ้างถึง หรือมีภาพเกี่ยวกับยาที่ผิดกฎหมาย
      Edutainment เนื้อหาของเกมส์จะทำให้ผู้เล่นพัฒนาทักษะต่าง ๆ หรือเสริมการเรียนรู้ภายใต้ความบันเทิง การพัฒนาทักษะเป็นส่วนเติมเต็มให้เกมส์สมบูรณ์
      Fantasy Violence การแสดงความรุนแรงแนวแฟนตาซี เกี่ยวข้องกับตัวละครทั้งที่เป็นมนุษย์ และไม่ใช่มนุษย์ ในสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากชีวิตจริง
      Informational เนื้อหาทั้งหมดบรรจุข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูล มีการอ้างอิงทางวิชาการ
      Intense Violence ภาพกราฟฟิค และภาพจริงแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ มีเลือดเหมือนจริง บาดแผล อาวุธ แสดงให้เห็นถึงการบาดเจ็บและความตาย
      Language มีพฤติกรรม หรือภาษาที่หยาบคายน้อยถึงปานกลาง
      Lyrics มีบ้างเล็กน้อยที่อ้างถึงความหยาบคาย เรื่องเพศ ความรุนแรง แอลกอฮอล์ หรือยาเสพติด อยู่ในเพลง
      Mature Humor แสดงให้เห็น หรือมีบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องตลกลามก รวมถึงการอ้างอิงเรื่องเพศ
      Mild Violence มีฉาก ที่แสดงให้เห็นตัวละครอยู่ในสถานการณ์รุนแรง หรือไม่ปลอดภัยบ้างเล็กน้อย
      Nudity มีภาพกราฟฟิค หรือแสดงให้เห็นภาพเปลือย
      Partial Nudity แสดงให้เห็นภาพเปลือยเพียงช่วงสั้น ๆ หรือมีเพียงเล็กน้อย
      Real Gambling ผู้เล่นสามารถเสี่ยงโชค เล่นพนัน หรือวางเดิมพันเป็นตัวเงินจริง ๆ ได้
      Sexual Themesอ้างถึง หรือแสดงให้เห็นภาพเกี่ยวกับเรื่องเพศน้อยถึงปานกลาง บางครั้งอาจมีภาพเปลือยบางส่วน
      Sexual Violence แสดงให้เห็นถึงการข่มขืน หรือการกระทำทางเพศอื่น ๆ
      Simulated Gambling ผู้เล่นสามารถเสี่ยงโชคได้ โดยไม่ต้องพนัน หรือวางเดิมพันเป็นตัวเงินจริง ๆ
      Some Adult Assistance May Be Needed เกมส์สำหรับผู้เล่นที่อายุน้อยมาก ๆ
      Strong Language ใช้ภาษาหยาบคายอย่างชัดเจน หรือบ่อยครั้ง
      Strong Lyrics อ้างถึงภาษาหยาบคาย เรื่องเพศ ความรุนแรง แอลกอฮอล์ หรือยาเสพติด ในเพลงอย่างชัดเจน หรือบ่อยครั้ง
      Strong Sexual Content มีภาพกราฟฟิค หรือแสดงให้เห็นภาพเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีภาพเปลือยอยู่
      Suggestive Theme มีสิ่งกระตุ้นการค้นคว้า หรือเนื้อหาสาระบ้างเล็กน้อย
      Tabacco Reference อ้างถึง หรือมีภาพสินค้าบุหรี่
      Use of Drug มีการบริโภคหรือใช้ยาที่ผิดกฎหมาย
      Use of Alcohol มีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
      Use of Tabacco มีการบริโภคสินค้าบุหรี่
      Violence มีฉากต่อสู้ก้าวร้าวรุนแรง

      นอกจากนี้สำหรับเกมส์ออนไลน์ ที่ผู้เล่นสามารถสร้างเนื้อหาเองได้ เช่นการพูดคุย สร้างหน้าตา สร้างสกินส์ จะมีระบุว่า Game Experience May Change During Online Play ซึ่งเป็นการเตือนว่า เนื้อหาที่สร้างโดยผู้เล่น ระหว่างเล่นเกมส์ออนไลน์ อาจมีเรตที่แตกต่างไปจาก ESRB จัดไว้

      เรตติ้งนี้เป็นเพียงคำแนะนำสำหรับการเลือกซื้อเกมส์ แต่การตัดสินใจซื้อหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อ ระดับอายุที่เหมาะสมก็อาจแตกต่างไปตามมาตรฐาน หรือพื้นฐานเยาวชนของแต่ละประเทศ ดังนั้นหากจะตัดสินใจเลือกซื้อโดยพิจารณาที่สัญลักษณ์นี้ ก็ควรดูคำอธิบายเนื้อหาเกมส์ควบคู่กันไป


      สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีการแสดงสัญลักษณ์เรตติ้งแบบนี้บนกล่องมากนัก จะเห็นมีเพียงบางเกมส์เท่านั้น เข้าร้านขายเกมส์ครั้งต่อไป ลองสังเกตกันดูเล่น ๆ ว่า มีสัญลักษณ์แบบนี้ระบุบนกล่องบ้างหรือเปล่า และหากใครอยากรู้ว่าเกมส์ที่เล่นอยู่นั้นจัดอยู่ในเรตไหน เข้าไปเช็คได้ที่ http://www.esrb.org

      ถถึงตรงนี้คงยังสรุปฟันธงลงไปไม่ได้ว่า เกมส์เป็นศัตรูร้ายทำลายเยาวชน จริงหรือไม่ เพราะแม้แต่ทฤษฎีทางสื่อสารมวลชน ยังแบ่งเป็น 2 กระแส บ้างก็ว่าเกมส์ เป็นตัวที่ทำให้เยาวชนลด ละ เลิก จากกิจวัตรประจำวันที่ควรทำ หรือความรุนแรงในเกมส์มีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ ส่วนอีกกระแสก็อ้างถึงการผ่อนคลายความเครียด ผ่อนคลายอารมณ์ ความรุนแรงที่ตัวละครในเกมส์แสดงอาจช่วยระบาย ช่วยลดความรุนแรงที่จะกระทำในชีวิตจริงลงไปได้

      แล้วคุณว่า เกมส์ เป็นศัตรูร้ายทำลายเยาวชนจริงหรือไม่?
    • บทความ ชื่อภาษาไทย คำแนะนำ วิธีการเล่น และข้อความต่าง ๆ ในเว็บไซต์ siamcomic.com เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท ดิจิตอล สเตชั่น จำกัด
      ห้ามมิให้ผู้ใด ลอกเลียน ทำซ้ำ หรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของลิขสิทธิ์
      หากผู้ใดฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปีพ.ศ. 2537
      Copyright 2000 - 2024 © siamcomic.com powered by DIGITAL STATION Co.,Ltd.
      All right reserved.
      Since 24 - Aug - 2000